“จำปาดะ” ไม้ผลอัตลักษณ์สินค้า GI ประจำจังหวัดสตูล ผลักดันเกษตรกรรวมกลุ่ม แปรรูปผลผลิตเพิ่มมูลค่า พัฒนาช่องทางการตลาด

ข่าวที่ 41/2567 วันที่ 29 มีนาคม 2567
 “จำปาดะ” ไม้ผลอัตลักษณ์สินค้า GI ประจำจังหวัดสตูล
ผลักดันเกษตรกรรวมกลุ่ม แปรรูปผลผลิตเพิ่มมูลค่า พัฒนาช่องทางการตลาด  
          นายไพฑูรย์ สีลาพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 9 สงขลา (สศท.9) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า “จำปาดะ ถือเป็นไม้ผลพันธุ์พื้นเมืองทางภาคใต้ของประเทศไทย นิยมนำผลสุกมาประกอบอาหารหวานและแปรรูป พบปลูกมากที่สุดในจังหวัดสตูล พื้นที่ปลูกรวม 1,685 ไร่ เนื้อที่ให้ผล 1,175 ซึ่งจำปาดะเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญอีกชนิดหนึ่งที่สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรชาวจังหวัดสตูล และจากการที่เป็นสินค้าอัตลักษณ์ประจำถิ่น ประกอบกับเป็นไม้ผลที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นกว่าที่อื่น จึงได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications: GI) เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2562
          สศท.9 ติดตามสถานการณ์การผลิตจำปาดะในจังหวัดสตูล พบว่า แหล่งผลผลิตสำคัญอยู่ที่อำเภอควนโดน เกษตรกรในพื้นที่นิยมปลูกจำปาดะพันธุ์ขวัญสตูล เนื่องจากเป็นพันธุ์ทางการค้า ผู้บริโภคนิยม มีลักษณะเด่น คือ เนื้อสีเหลืองออกสีส้ม ยุม (เนื้อผล) ใหญ่ เนื้อหนา ไม่เละกลิ่นไม่จัดและรสชาติไม่หวานมาก หากปลูกโดยการเพาะเมล็ดจะใช้เวลา 5 - 6 ปี ถึงให้ผลผลิต แต่ถ้าปลูกโดยการเสียบยอด/ติดตา/ทาบกิ่ง จะใช้เวลา 3 - 4 ปี ถึงให้ผลผลิต เกษตรกรปลูกช่วงเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน เนื่องจากเป็นช่วงฤดูฝน สภาพอากาศเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของต้นกล้า เมื่อจำปาดะมีช่วงอายุเหมาะสมในการให้ผลผลิต หลังจากจำปาดะออกดอกจนกระทั่งดอกบาน นับระยะเวลาได้ 120 วัน หรือตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ เกษตรกรจะทำการเก็บเกี่ยวผลผลิตซึ่งจะออกในช่วงเดือนกรกฎาคม – สิงหาคม โดยในปี 2566 จังหวัดสตูลได้ผลผลิตรวม 1,552 ตัน ผลผลิตเฉลี่ย 1,321 กิโลกรัม/ไร่ (จำปาดะ 1 ลูก มีน้ำหนักประมาณ 2 - 5 กิโลกรัม) ราคาขายผลสด ช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาด (ราคาเฉลี่ยปี 2566) อยู่ที่ 80 บาท/กิโลกรัม ด้านสถานการณ์ตลาด เกษตรกรขายแบบผลสด ร้อยละ 98 และขายแบบแปรรูป ร้อยละ 2 เป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น ขนมโดนัทจำปาดะ ทองพับจำปาดะ หม้อแกงจำปาดะ ขนมกลีบลำดวนจำปาดะ และปั้นสิบไส้จำปาดะ สำหรับการจำหน่ายผลผลิต ส่วนใหญ่ร้อยละ 80 จำหน่ายให้พ่อค้าคนกลางจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งเข้ามารับซื้อในพื้นที่ ได้แก่ จังหวัดสงขลา จังหวัดพัทลุง จังหวัดตรัง จังหวัดพังงา จังหวัดกระบี่ และพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รองลงมาร้อยละ 15 ขายในตลาดท้องถิ่น และร้อยละ 5 จำหน่ายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์
          สำหรับจังหวัดสตูลได้สนับสนุนและผลักดันเกษตรกรในพื้นที่ปลูกจำปาดะ โดยส่งเสริมการรวมกลุ่มผลิตในรูปแบบแปลงใหญ่เพื่อพัฒนาจำปาดะในท้องถิ่น อีกทั้ง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้กำหนดกรอบแนวทางการบริหารจัดการศูนย์ข้อมูล เพื่อการวางแผนพัฒนา การเกษตรสินค้าของจังหวัดและมติคณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนนโยบายสำคัญและการแก้ไขปัญหาภาคเกษตรระดับจังหวัด (Chief of Operation : CoO) จังหวัดสตูล ครั้งที่ 3/2563 เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2563 ให้จัดทำข้อมูลเพื่อการวางแผนพัฒนาการเกษตรรายสินค้าของจังหวัดสตูล ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 โดยขับเคลื่อนการพัฒนาสินค้าผ่านศูนย์การเรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรระดับอำเภอควนโดน 
          ทั้งนี้ การปลูกจำปาดะจังหวัดสตูล เกษตรกรจะพิถีพิถัน เน้นตั้งแต่การปลูก การผลิตจำปาดะให้มีคุณภาพ การแปรรูป การพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ ตลอดจนการกำหนดตราสินค้าที่น่าสนใจ ประกอบกับจำปาดะจังหวัดสตูลได้รับการขึ้นทะเบียนสินค้า GI ทำให้ความต้องการบริโภคและราคาจำปาดะมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้น จึงควรสนับสนุนให้เกษตรกรขยายพื้นที่ปลูกจำปาดะและควรแนะนำให้เกษตรกรปลูกจำปาดะด้วยต้นพันธุ์ที่ทาบกิ่ง เนื่องจากสามารถให้ผลผลิตที่รวดเร็วกว่าการปลูกด้วยต้นพันธุ์ที่ได้จากการเพาะเมล็ด นอกจากนี้ ควรมีการประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศรู้จักจำปาดะ รวมทั้งพัฒนาช่องทางการตลาดให้หลากหลายมากขึ้น รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐควรร่วมมือกับภาคเอกชนและภาคการศึกษา เพื่อพัฒนางานวิจัยที่เกี่ยวกับการทำจำปาดะให้ออกนอกฤดู และการวิจัยเกี่ยวกับการแปรรูปจำปาดะเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เพื่อยืดอายุการเก็บรักษาและตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น หากท่านใดสนใจข้อมูลสถานการณ์การผลิตและตลาดจำปาดะจังหวัดสตูล สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานเกษตรจังหวัดสตูล โทร 0 7471 1106 หรือ สศท.9 โทร 0 7431 2996 หรืออีเมล zone9@oae.go.th
 
******************************************************
ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์ / ข้อมูล : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 9 สงขลา